ธนาคารเวลา
ธนาคารเวลา คือ เครือข่ายสมาชิกที่ใช้ ‘เครดิตเวลา’ ตอบแทนการได้รับ’บริการ’
•
เครื่องมือในการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนหรือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน (เพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน) ดูแลซึ่งกันและกัน
ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์หรือความสามารถในการให้ความช่วยเหลือพื้นฐานแก่ผู้เป็นสมาชิก
ธนาคารเวลาทำหน้าที่อื่นๆ โดยมีผลตอบแทนเป็นเวลาที่เท่ากัน (1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 หน่วยเวลา) ที่จะถูกบันทึกลงในสมุดบัญชีธนาคารเวลา โดยคณะทำงานหรือผู้จัดการที่มีธรรมาภิบาล
ซึ่งสมาชิกสามารถเบิกเวลาที่คงเหลืออยู่มาใช้ได้เมื่อจำเป็นที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากสมาชิกธนาคารเวลาท่านอื่นๆ ในชุมชน
เครดิตเวลา
เครดิตเวลา คือ สกุลเงินที่ใช้ในธนาคารเวลา
เป็นอัตราแลกเปลี่ยนคุณค่าของการกระทำที่ถูกมองข้าม หรือยากที่จะประเมินค่าด้วยเงิน ดังนั้นเมื่อเห็นคุณค่าเหล่านี้ เครดิตเวลาก็จะมีมูลค่า
เครดิตเวลาสื่อถึงการให้คุณค่ากับทักษะ(ความสามารถ)ทุกระดับ ในงานที่สมาชิกทำ(บริการ)ให้กัน
โดยคิดเป็นหน่วยเวลา 1 ชม. เท่ากับ 1 เครดิต
งาน หรือ ความช่วยเหลือ
หมายถึง กิจกรรมบริการที่สมาชิกใช้ทักษะในการให้บริการซึ่งกันและกัน รวมถึงงานส่วนบุคคลที่เคยถูกมองข้าม เช่น การทำความสะอาด การตัดเล็บ เป็นต้น
โดยมองว่างานเหล่านี้มีคุณค่าและสำคัญต่อสังคม ดังนั้นผู้ให้บริการจึงได้รับเครดิตเวลาเป็นการตอบแทน เพื่อสะท้อนการให้คุณค่ากับหน้าที่และบทบาททางสังคม
ทักษะ
หมายถึง บทบาท ความสามารถ การกระทำ ของสมาชิก ที่นำมาใช้ในการให้บริการกิจกรรมต่างๆ เช่น ทักษะการทำความสะอาด ทักษะการตัดผม ทักษะการเปลี่ยนหลอดไฟ เป็นต้น
ทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สมาชิกสามารถนำมาแลกเปลี่ยนให้บริการแก่กันภายในระบบธนาคารเวลาได้
ค่านิยมหลัก 5 ประการ (แนวคิดหลักของธนาคารเวลา)
เป็นแนวคิดของ เอ็ดการ์ คาห์น (Edgar Cahn) ผู้ก่อตั้งธนาคารเวลาร่วมสมัย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าจะทำให้การพัฒนาธนาคารเวลาประสบความสำเร็จได้มากที่สุด ประกอบด้วย
ให้คุณค่ากับทักษะ (ความสามารถ) ในทุกระดับ
ให้คุณค่ากับทุกการกระทำ แม้จะเล็กน้อย ว่าเป็น “งาน (บริการ)”
เปลี่ยนการรับหรือให้ฝ่ายเดียว เป็นแลกเปลี่ยนตอบแทน
ไว้วางใจ(trust) และ ร่วมมือกัน
ให้เกียรติ + เคารพ ยอมรับคุณค่าของทุกการมีส่วนร่วม
ค่านิยมที่
อ้างอิง จาก คู่มือธนาคารเวลา โดย สสส.
เชิงปฏิบัติการ
1.
ทุกคนมีคุณค่า: ทุกคนมีประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถแบ่งให้ผู้อื่นได้
ให้คุณค่ากับทักษะ (ความสามารถ) ในทุกระดับ โดยคิดเป็นหน่วยเวลา 1 ชม. ที่ใช้ทักษะ เท่ากับ 1 เครดิต
2.
งานแลกเวลา: ความหมายใหม่ของคำว่า “งาน” จากเดิมที่นิยามกันว่าคือสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับ “เงิน” มาใช้ “เวลา” เป็นสื่อกลาง ทำให้งานบางอย่างที่เคยถูกมองข้าม ถูกเห็นคุณค่าเพิ่มขึ้น เช่น งานบ้าน การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นต้น
ให้คุณค่ากับทุกการกระทำ แม้จะเล็กน้อย ว่าเป็น “งาน (บริการ)” โดยคิดเป็นหน่วยเวลา 1 ชม. การทำงานเท่ากับ 1 เครดิต
3.
ช่วยเหลือด้วยความเท่าเทียม: การแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ความช่วยเหลือในธนาคารเวลาแตกต่างจากความช่วยเหลือส่วนใหญ่ ที่ผู้ให้ความช่วยเหลือมักพูดว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม” โดยธนาคารเวลา ผู้ให้ความช่วยเหลือจะถามว่า “คุณอยากจะช่วยเหลือคนอื่นด้วยหรือไม่” สิ่งที่แฝงในคำถามที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ คือการส่งต่อคุณค่า “จิตอาสา” สู่ผู้รับความช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไป
เปลี่ยนการรับหรือให้ฝ่ายเดียว เป็นแลกเปลี่ยนตอบแทนกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบเท่าเทียม
4.
ช่วยเกื้อกูล สังคมเข้มแข็ง: เครือข่ายสังคม การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งได้
ส่งเสริมการสร้างทุนทางสังคม (ความไว้วางใจ + เครือข่าย + ความร่วมมือกัน) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนเข้มแข็ง
5.
เคารพอย่างเท่าเทียม: การเคารพซึ่งกันและกัน ธนาคารเวลาอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกจึงเป็นการเคารพซึ่งกันและกัน
ส่งเสริมการให้เกียรติ + เคารพซึ่งกันและกัน โดยการยอมรับคุณค่าของทุกการมีส่วนร่วม
สมาชิก
คือ บุคคลที่ให้คุณค่าสอดคล้องตามค่านิยมหลัก 5 ประการของธนาคารเวลา ที่สมัครเป็นสมาชิก และปฏิบัติตามข้อตกลงของธนาคารเวลา
กองทุนเวลา
“กองทุนเวลา” คือ การสะสมเวลาที่สมาชิกธนาคารเวลาบริจาคไว้เป็นกองกลาง หรือการได้รับเวลาที่เป็นส่วนเกินจากการแลกเปลี่ยนทักษะของสมาชิก เช่น การสอนโยคะ 2 ชั่วโมงให้สมาชิก 10 คน ผู้สอนจะได้เวลาจากสมาชิกคนละ 2 ชั่วโมง รวมเป็น 20 ชั่วโมง แต่ผู้สอนจะได้รับเวลาจริงเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั่น อีก 18 ชั่วโมงที่เกินมาจะโอนเข้าไว้ในกองทุนเวลา
มีธนาคารเวลาบางแห่ง มีการจัดการในลักษณะ “กองทุนเวลา” ได้แก่ ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนเลิศสุขสม
กองทุนธนาคารเวลา
“กองทุนธนาคารเวลา” คือ การจัดเก็บรายได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการฯ ภาคีเครือข่าย การบริจาค เป็นต้น เพื่อไว้ใช้ในการบริหารจัดการหนุนเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของธนาคารเวลาสาขานั้น ๆ
ธนาคารที่มีการดำเนินงานในลักษณะของกองทุนธนาคารเวลา ได้แก่ ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนคลองลัดภาชี
“งาน” ไม่ได้เท่ากับ “เงิน”
สังคมนิยามคำว่า “งาน” ว่าคือสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับ “เงิน”
สำหรับธนาคารเวลา “งาน” ถูกให้ความหมายใหม่ ว่าคือสิ่งที่ทำเพื่อแลกกับ “เวลา”
“เวลา” ถูกนำมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทน “เงิน” สมาชิกสามารถออมเวลาในบัญชี ซึ่งนับจากเวลาที่ใช้ในการให้บริการ หรือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยมีการบันทึกไว้ในระบบข้อมูลกลาง ลักษณะเดียวกับบัญชีธนาคาร เมื่อเจ้าของบัญชีต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถ “ขอเบิก” โดยการนำเวลาที่ออมไว้ แลกกับเวลาที่สมาชิกอื่นจะมาทำประโยชน์ให้กับตนเอง หรือแลกเป็นสิ่งของ ตามข้อกำหนดของธนาคารเวลาแต่ละแห่ง
เมื่อ “เวลา” กลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คนในชุมชนจะตระหนักถึงคุณค่าอื่น นอกจากทรัพย์สินเงินทอง เช่น การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การดูแลกลุ่มคนในชุมชนที่มีความต้องการเป็นพิเศษ งานบ้านจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นงาน เพราะไม่มีค่าตอบแทน
1: 1 เวลาของเรา มีค่าเท่ากัน
ธนาคารเวลา ให้คุณค่ากับทักษะ ความสามารถทุกระดับของสมาชิก ที่ใช้ทำงานบริการให้กันอย่างเท่าเทียม แม้จะเป็นเพียงงานเล็กน้อย หรือ งานที่เคยถูกมองข้าม
เวลาของทุกคนจึงมีค่าเท่ากัน แบบ 1 ต่อ 1 การให้บริการแก่ผู้อื่น 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 ชั่วโมงที่ผู้ให้บริการจะเก็บสะสมไว้ และในอนาคต เมื่อมีความจำเป็นต้องการบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง คน ๆ นั้นก็จะได้รับตอบแทนเป็นบริการจากสมาชิกรายอื่นในจำนวนชั่วโมงที่เท่ากัน ธนาคารเวลาบางแห่งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถถ่ายโอนเวลาที่สะสมไว้ให้คนอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนในชุมชน หรือสมาชิกธนาคารเวลาที่ยังไม่ได้เริ่มสะสมเวลาแต่ต้องการบริการ
สังคมสูงวัย กับ ธนาคารเวลา
ประเทศทั่วโลก ต่างก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัย เนื่องจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ก็นิยมมีลูกกันน้อยลง ขณะเดียวกัน แนวโน้มการพัฒนาเป็นเมือง ส่งผลต่อวัฒนธรรมชุมชนที่เพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงมีความเอื้ออาทรระหว่างกัน ลดน้อยถอยลงไป สมาชิกในครอบครัวจำนวนไม่น้อยจากถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อเข้าไปทำงานในเมือง
ธนาคารเวลา จึงถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์การเป็นสังคมสูงวัยของหลายประเทศ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ดึงคนให้มาทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย และช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งในประเทศไทย ธนาคารเวลาดำเนินงานอย่างเป็นทางการ โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อันที่จริง ธนาคารเวลาสามารถนำไปใช้ในชุมชนหลากหลายประเภท เพราะยิ่งสมาชิกมีความรู้ ความสามารถแตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือระหว่างกันก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น
ผู้จัดการธนาคารเวลา
ธนาคารเวลา ต้องมีคนทำหน้าที่ “ผู้จัดการ” เช่นเดียวกับธนาคารทั่วไป
แม้ชุมชนจะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นพื้นฐาน แต่ธนาคารเวลาต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพราะเกี่ยวข้องกับข้อมูล การประสานงาน รวมทั้งการเสริมสร้างสัมพันธภาพให้กับสมาชิก ดังนั้น การมีโครงสร้างการทำงาน และการปฏิบัติงานที่เป็นระบบแบบแผน จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
“ผู้จัดการธนาคารเวลา” ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลา ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ จึงควรเป็นบุคคลที่คนในชุมชน และสมาชิกของธนาคารเวลาให้ความไว้วางใจ รวมทั้งเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับธนาคารเวลาอย่างรอบด้าน สามารถกำหนดนโยบายการทำงาน กำกับดูแลการดำเนินงานธนาคารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแลกเปลี่ยนในธนาคารเวลา
การแลกเปลี่ยนภายในธนาคารเวลา สามารถแลกเปลี่ยนได้หลายรูปแบบ ที่สำคัญ ได้แก่
บุคคล กับ บุคคล เป็นการกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกกับสมาชิก ที่บริหารจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น เช่น สมาชิกธนาคารเวลาเป็นช่างซ่อมประตูบ้านผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้สูงอายุช่วยดูแลเด็กเล็กให้กับสมาชิกคนอื่นๆ
สมาชิก (บุคคล) กับ องค์กร กิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกกับองค์กร เช่น โรงพยาบาลต้องการให้สมาชิกคอยบริการเข็น รถผู้ป่วย และโรงพยาบาลมีการตอบแทนสมาชิก เช่น บริการตรวจสุขภาพแลกกับเครดิตเวลาแทนเงิน หรือใช้เครดิตเวลาแลกการรับบริการสุขภาพแบบ Fast track
องค์กร กับ องค์กร การแลกเปลี่ยนเวลาร่วมกันระหว่างองค์กรต่อองค์กรถูกออกแบบเพื่อรองรับการทำธุรกิจ กิจกรรมแลกเปลี่ยน โดยถูกบันทึกเป็นเครดิตเวลา