แนวทางการจัดตั้งธนาคารเวลา ในระยะแรก มีการนำเสนอไว้รวม 10 ขั้นตอน หลังจากมีการดำเนินงานมาระยะหนึ่ง และได้มีการศึกษาทบทวนแต่ละขั้นตอน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้เสนอให้ปรับลดเหลือ 7 ขั้นตอน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย และนำเป็นแนวทางปฏิบัติได้สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่สนใจ
แนวทางเดิม 10 ขั้นตอน | แนวทางประยุกต์ 7 ขั้นตอน | ||
1 | จัดให้มีคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งธนาคารเวลาในพื้นที่ | ||
2 | รณรงค์สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม | ||
3 | เตรียมความพร้อม ความร่วมมือ | 3 | กำหนดกติการ่วมกัน และสื่อสารสมาชิก |
4 | จัดทำฐานข้อมูล | 4 | จัดตั้งและเริ่มดำเนินการ |
5 | จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดรูปแบบ เกณฑ์ กติกา โครงสร้าง | ||
6 | จัดตั้งธนาคารเวลาในพื้นที่ | ||
7 | เปิดรับสมัครสมาชิก ปฐมนิเทศ เชื่อมโยงบริการช่วยเหลือ | 5 | กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในธนาคารเวลา |
8 | เสริมพลังอำนาจ อบรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ | 6 | เสริมพลังผ่านการทบทวนการดำเนินการ การฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ |
9 | ถอดบทเรียน ติดตาม ประเมินผล | 7 | ขยายผลธนาคารเวลาให้กว้างขึ้น |
10 | สังเคราะห์บทเรียน ประเมินผล |
ใน 7 ขั้นตอน มีรายละเอียด ดังนี้
สิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนนี้ 1. รวมกลุ่ม *หมายเหตุ: ข้อ 3.5-3.7 สามารถยกไปหาข้อสรุปในขั้นตอนที่ 3 ได้ |
ธนาคารเวลาเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยพื้นฐานความร่วมมือทางสังคม ส่วนใหญ่จึงเป็นการริเริ่มจากกลุ่มคนที่มีความร่วมมือในการทำงานเพื่อสังคมที่มีความเข้มแข็งอยู่เดิม และมีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มผู้ก่อตั้ง” หรือ “คณะทำงาน” โดยกลุ่มดังกล่าว อาจมีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เช่น เทศบาล โรงเรียนผู้สูงอายุ โรงพยาบาล หรือกลุ่มที่รวมตัวแบบไม่เป็นทางการโดยมีพื้นฐานความสนใจในการทำประโยชน์ต่อสมาชิก หรือต่อชุมชน เช่น กลุ่มผู้เกษียณอายุจิตอาสา อาสาสมัครต่าง ๆ เป็นต้น
สมาชิกในกลุ่มผู้ก่อตั้งธนาคารเวลา ต้องศึกษาทำความเข้าใจธนาคารเวลา และพร้อมจะเป็นแกนนำขับเคลื่อน และเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีความมุ่งมั่นในการประยุกต์เครื่องมือธนาคารเวลาเพื่อใช้ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
สิ่งที่คณะทำงานควรเตรียมความพร้อม ประกอบด้วยคำถาม และข้อคิดที่สำคัญ ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย (target groups)
คำถามสำคัญ – ใครจะเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” บริการช่วยเหลือ?
ข้อคิด – ธนาคารเวลา ควรเปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัย ซึ่งมีทักษะและประสบการณ์ที่หลากหลายร่วมเป็นสมาชิก เพื่อที่แต่ละคนจะได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
ส่วนกลุ่ม “ผู้รับ” บริการช่วยเหลือ หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ก็จะช่วยรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อาจขยายไปยังกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออื่น เช่น ผู้พิการ กลุ่มคนโรคจิต ผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล และต้องการการดูแล เป็นต้น
ตัวอย่างกลุ่มเป้าหมายธนาคารเวลา และการจัดบริการช่วยเหลือ
|
ข้อท้าทาย
|
รูปแบบการให้การช่วยเหลือ (types of offer)
คำถามสำคัญ – อะไรคือการช่วยเหลือในธนาคารเวลาที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น
ข้อคิด –การช่วยเหลือ ควรครอบคลุมปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการ โดยบริการสามารถเป็นได้ทั้งการให้เวลาในการช่วยเหลือ สิ่งของ เงิน รวมไปถึงความรู้เฉพาะทาง เช่น ความรู้ด้านการซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย และความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ตามที่ต้องการ
รูปแบบการได้รับการตอบแทนของผู้ให้บริการ (types of request)
คำถาม – ผู้ให้บริการ จะได้รับอะไรเป็นสิ่งตอบแทน
ข้อคิด – สิ่งตอบแทนอาจเป็นได้ ดังนี้
- การได้รับการดูแล หรือบริการกลับคืน ตามความต้องการ และเวลาที่เคยให้บริการไว้
- การไม่ขอรับสิ่งตอบแทน
- การโอนเวลาให้กับบุคคลอื่น เช่น สมาชิกในครอบครัว สมาชิกที่ยังไม่ได้สะสมเวลา โอนเข้าบัญชีชุมชน เป็นต้น
- การเก็บเวลาไว้ที่ส่วนกลาง ในรูปแบบของกองทุนเวลา
กลไกการบริหารจัดการ
ธนาคารเวลา ในการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่อง ในระยะยาวได้ อาจพิจารณาองค์ประกอบของการบริหารจัดการ ได้แก่ 4Ms : Man – คน บุคลากร, Money – งบประมาณ, Material – วัสดุ/อุปกรณ์, Management – การบริหารจัดการ ดังนี้
คน บุคลากร (Man) ถือว่ามีความสำคัญลำดับแรกในการก่อตั้งธนาคารเวลา ตลอดไปจนถึงขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธนาคารเวลา ส่วนใหญ่ใช้รูปแบบของคณะทำงาน หรือคณะกรรมการ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมเป็นคนในพื้นที่
เงิน (Money) แหล่งที่มาของเงินทุนและงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการสำหรับธนาคารเวลาต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิก โดยอาจเป็นการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ 5 แหล่งที่มา ได้แก่
1) อุดหนุนโดยเทศบาล
2) กรมกิจการผู้สูงอายุ ผ่าน ศพอส. และ พมจ.
3) เงินบริจาค
4) ระบบเวลา (ได้เวลาเป็นค่าตอบแทน)
5) อื่น ๆ
วัสดุ/อุปกรณ์ (Material) ธนาคารเวลา ก็ไม่แตกต่างจากธนาคารที่ต้องบริหารจัดการทางการเงิน จึงต้องมีการจัดระบบการจัดการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อาทิ ระบบการจัดการข้อมูล ซึ่งต้องมีโปรแกรม ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ การเชื่อมต่อข้อมูลกับสมาร์ทการ์ด หรือการมีคีย์การ์ด เพื่อสามารถจัดการข้อมูลได้สะดวก รวมทั้งสถานที่ตั้ง ควรเป็นสถานที่ซึ่งสมาชิกทุกคนเดินทางได้สะดวก หรือมีระบบสนับสนุน เพื่อช่วยให้สมาชิกไม่ต้องเดินทางไปใช้บริการที่ธนาคารเวลา เช่น การสมัครสมาชิกผ่านออนไลน์ (อาจใช้ Google form) หรือการมีผู้ประสานงานช่วยติดต่อแทนให้
การบริหารจัดการ (Management) จำเป็นต้องมีผู้จัดการธนาคารเวลา ทำหน้าที่บริหารทีม และระบบการจัดการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ กติกา ที่ร่วมกันกำหนดขึ้น รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ ระดมการมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพร้อมรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการประสานงานกับหน่วยงานซึ่งเป็นต้นสังกัดให้ความเห็นชอบ เช่น กรณีเป็นธนาคารเวลา โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีระเบียบ หรือหนังสือสั่งการ จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
สรุปสิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนแรกคือ |
1. รวมกลุ่ม *หมายเหตุ: ข้อ 3.5-3.7 สามารถยกไปหาข้อสรุปในขั้นตอนที่ 3 ได้ |
คณะทำงานจัดตั้งธนาคารเวลา ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเวลาได้รับทราบ และเข้าใจหลักการ แนวคิด แนวทางการดำเนินงาน รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของธนาคารเวลา ตลอดจนการปรึกษาหารือด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการทดลองประยุกต์ใช้ธนาคารเวลาภายในกลุ่ม
การสื่อสารประชาสัมพันธ์
คณะทำงานอาจดำเนินงาน ดังนี้
- สื่อสารแบบไม่เป็นทางการ โดยเริ่มต้นพูดคุยกับกลุ่มคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะใกล้ชิดแบบเป็นทางการ ตามบทบาทหน้าที่ หรือใกล้ชิดแบบไม่เป็นทางการ เช่น เพื่อน พี่น้องเครือญาติ ก็จะช่วยให้การทำความเข้าใจเป็นไปได้ง่าย
- การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยการพิจารณาให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การประชุมหมู่บ้าน การชี้แจงทำความเข้าใจในโรงเรียนผู้สูงอายุ เสียงตามสาย การใช้สื่อโซเชียล อย่างกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น แผ่นพับ เอกสาร หรือไฟล์เอกสารที่สามารถดาวน์โหลดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีหน่วยงานจัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรมกิจการผู้สูงอายุ หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะทำงานสามารถประสานงานเพื่อขอรับการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการของบประมาณสนับสนุนกิจกรรมประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และเกิดการมีส่วนร่วม เมื่อคณะทำงานเริ่มจากกลุ่มคนใกล้ชิด ก่อนจะขยายไปในวงที่กว้างขึ้น โดยสมาชิกสามารถช่วยกันสื่อสาร ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การพัฒนาในลักษณะนี้ จะทำให้ธนาคารเวลามีการเติบโตในลักษณะของรูปตัว S (S-Curve) โดยการขยายการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มความร่วมมือทางสังคมใหม่ ๆ เมื่อกลุ่มเก่าเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และการขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มที่อาจไม่ได้มีความคุ้นเคยกันเป็นส่วนตัว
ที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการ พัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาของประเทศไทย (ประเมินผล และส่งเสริมการพัฒนากระบวนการดำเนินงานธนาคารเวลาของประเทศไทยสู่ความเป็นรูปธรรม). สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
คณะทำงานจัดตั้งธนาคารเวลา จัดการประชุมร่วมกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเวลา เพื่อปรึกษาหารือถึงความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้เครื่องมือธนาคารเวลาภายในกลุ่ม
สิ่งที่ต้องมีการหารือและตกลงร่วมกัน มีดังนี้
การจัดตั้งคณะกรรมการธนาคารเวลา
คณะกรรมการธนาคารเวลา จะมีส่วนสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานและบริหารจัดการธนาคารเวลามีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และมีการทำงานอย่างเป็นระบบ
โครงสร้างของคณะกรรมการธนาคารเวลา แบบเต็มรูปแบบ สามารถแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ ดังนี้
- ที่ปรึกษาธนาคารเวลา การตั้งบุคคลให้เป็น “ที่ปรึกษา” ถือเป็นกลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับรู้และร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนธนาคารเวลา ซึ่งจะมีผลต่อความน่าเชื่อถือในการดำเนินงาน บุคคลที่สามารถเชิญร่วมเป็นที่ปรึกษา ควรเป็นคนที่ชุมชนเชื่อถือ เช่น นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ เจ้าอาวาส ปราชญ์ชุมชน เป็นต้น
- ผู้จัดการธนาคารเวลา เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานธนาคารเวลา ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ควรเป็นบุคคลที่คนในชุมชนให้ความไว้วางใจ รวมทั้งสามารถกำหนดนโยบายการทำงาน กำกับดูแลการดำเนินงานธนาคารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- คณะกรรมการ เป็นอีกปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ เพราะจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน จำนวนกรรมการขึ้นกับการแบ่งหน้าที่ หรือแบ่งภาระงานภายในธนาคารเวลาแต่ละแห่ง
- เจ้าหน้าที่ประสานงาน ทำหน้าที่เชื่อมโยงบริการ ระหว่างผู้ให้กับผู้รับบริการ (Matching) ถือเป็นอีกหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญ เพราะจะต้องพิจารณาความต้องการของผู้ให้บริการ ให้เหมาะสมกับผู้รับบริการ รวมทั้งต้องเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการเชื่อมโยงบริการต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความเชื่อถือให้กับทุกฝ่ายอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ประสานงานของธนาคารเวลาแต่ละแห่ง มักจะมีจำนวน 3 – 4 คน แต่จะมีหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก
ที่มา: แนวทางการดำเนินงานธนาคารเวลาแห่งประเทศไทย (กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ, 2562)
อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นของการจัดตั้งธนาคารเวลา อาจไม่จำเป็นต้องมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ครบถ้วน แต่อย่างน้อย ควรมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
- ผู้นำกลุ่ม เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของธนาคารเวลา และสนับสนุนการทำงานให้มีความต่อเนื่อง ควรเป็นคนที่มีความคิดริเริ่ม และพร้อมจะมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่สนับสนุนการติดตามและประเมินผล เพื่อให้ธนาคารเวลาที่จัดตั้งขึ้นสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืน
- ที่ปรึกษา เป็นผู้ที่สมาชิกกลุ่มและชุมชนให้การยอมรับนับถือ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการพัฒนาธนาคารเวลา และสามารถช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาหรือข้อขัดแย้ง
- ผู้ดูแลระบบธนาคารเวลา ทำหน้าที่ดูแลระบบข้อมูล การเบิกถอน และการสะสมเวลา ผู้ทำหน้าที่ดูแลระบบฐานข้อมูลอาจอาศัยสมาชิกที่มีประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารมาก่อน หรือมีความรู้ความชำนาญในด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผ่านโปรแกรม เช่น Excel เป็นต้น
- ผู้จัดการ และผู้ประสานงาน ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานในภาคปฏิบัติ ผู้จัดการจะดูแลการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวม ส่วนผู้ประสานงานจะเป็นตัวเชื่อมที่สามารถเข้าถึงสมาชิกแต่ละคนได้ ทำหน้าที่ประสานงาน ชี้แจง ดูแลกิจกรรมที่เกิดขึ้น รวมถึงอาจช่วยบันทึกเวลาให้กับสมาชิก
ผู้ประสานงาน ควรมีความคล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักสมาชิกและคนในชุมชน มีความสามารถในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจแก่สมาชิก และคนในชุมชน
ความเหมาะสมในการใช้เครื่องมือธนาคารเวลาในพื้นที่ (หา pain point ที่ต้องการแก้ไข เพื่อกำหนดเป้าหมาย)
เมื่อเริ่มต้นจากกลุ่มคนที่มีความร่วมมือในการทำงานเพื่อสังคมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่มีมาก่อนหน้า คณะทำงานควรปรึกษาหารือกับสมาชิกถึง “ช่องว่าง” ของความร่วมมือที่มีอยู่ และสามารถนำธนาคารเวลามาใช้เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด อันจะนำไปสู่การตอบโจทย์ความต้องการในการดูแลชุมชน และคนในชุมชน
“ช่องว่าง” ของความร่วมมือทางสังคม หมายถึง การทบทวนเป้าหมายของความร่วมมือที่มีอยู่ ว่าสามารถตอบวัตถุประสงค์ของกลุ่มได้ดีเพียงใด
ตัวอย่าง “ช่องว่าง” ของความร่วมมือทางสังคม
|
โดยทั่วไป “ช่องว่าง” ของความร่วมมือทางสังคม เกิดขึ้นได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่
- ช่องว่างของความร่วมมือทางสังคมเดิมที่มีอยู่ กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ และสามารถพัฒนาต่อยอดได้มากกว่าเดิม เช่น การทำงานนอกเวลา ที่สามารถนำกิจกรรมอื่นเสริมได้ เช่น การตัดผมให้ผู้สูงอายุ การรดน้ำดำหัว การบรรยายธรรมะที่บ้าน เป็นต้น
- ช่องว่างการตอบสนองความต้องการของสมาชิก กิจกรรมใดบ้างที่สามารถใช้ระบบการช่วยเหลือกัน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้น เช่น งานซ่อมบำรุง พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล แนะนำผู้สูงอายุให้ใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น
- ช่องว่างการตอบสนองความต้องการของชุมชน ชุมชนยังมีปัญหาด้านใดบ้างที่สามารถใช้ธนาคารเวลาเข้าไปเป็นกลไกในการดูแลช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหา
การกำหนดกิจกรรมเบื้องต้น
กิจกรรมเบื้องต้นของธนาคารเวลา กำหนดขึ้นได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่ากิจกรรมใดจะสามารถเติมเต็ม “ช่องว่าง” ที่ได้มีการพิจารณากันในข้อ 3.1
ทั้งนี้ แนวทางการกำหนดกิจกรรสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 การสำรวจและกำหนดกิจกรรมตามความสามารถของสมาชิก
การสำรวจความสามารถของสมาชิก อาจทำได้โดยการใช้แบบฟอร์มการสำรวจทักษะของกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งแบ่งทักษะเป็น 6 กลุ่ม และจัดทำฐานข้อมูล หรือให้ผู้ประสานงานที่รับรู้ทักษะของสมาชิกกลุ่มทำหน้าที่เป็นตัวกลาง
รูปแบบที่ 2 การกำหนดกิจกรรมจากสมาชิก
สมาชิกของธนาคารเวลา รวมทั้งคณะกรรมการธนาคารเวลา นำเสนอและสรุป “ช่องว่าง” ของความร่วมมือทางสังคมที่เกิดขึ้น และเปิดให้สมาชิกที่สมัครใจช่วยเหลือชุมชนในประเด็นต่าง ๆ ได้อาสาในการให้บริการ หรือดูแลช่วยเหลือสมาชิกในด้านนั้น ๆ
นอกจากนี้ ธนาคารเวลาอาจมีการเสริมทักษะเพื่อให้สมาชิกสามารถทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างประเด็นการให้บริการผู้สูงอายุ
การบริการ | ตัวอย่างประเด็นการบริการ |
| -การพาผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมงานบุญ งานประเพณี กิจกรรมในชุมชน กิจกรรมทางศาสนา พักผ่อนนอกบ้าน ติดต่อทำธุระ หรือการทำแทน -รับส่งผู้สูงอายุ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง -การพูดคุย รับฟังปัญหา -ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่เด็กและเยาวชน -สร้างช่องทางการติดต่อกับเครือข่ายผู้สูงอายุ เพื่อลดความเครียด เช่น สอนใช้ไลน์ เปิดข้อมูลด้านสุขภาพจากระบบออนไลน์ -การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแก่ผู้สูงอายุ -ช่วยป้องกันและบรรเทาภัย ช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ |
| -การพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัด หรือพบแพทย์กรณีฉุกเฉิน -การพาแพทย์มาตรวจรักษาที่บ้านผู้สูงอายุ -การพาผู้สูงอายุไปออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดที่บ้าน -การส่งเสริมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัย -ช่วยผู้ดูแล ช่วยงานพยาบาลเยี่ยมประเมิน ดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน -การจัดหาน้ำดื่ม อาหารถูกสุขลักษณะ สาธารณูปโภคที่ดี -ช่วยจัดบ้านให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ไม่ให้มีจุดเสี่ยง |
| -การให้คำแนะนำทางการเงินแก่ผู้สูงอายุ -การบริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ ช่วยเหลือผู้สูงอายุ -การให้ความรู้ ฝึกอาชีพแก่ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มรายได้ -การส่งเสริมการออมเงิน แนะนำการจัดทำบัญชีครัวเรือน -การช่วยเหลือให้เข้าถึงช่องทางกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ -พาไปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ -ช่วย/ร่วมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ |
การกำหนดกติกา (การแลกเปลี่ยนบริการ) ที่ใช้ร่วมกัน
สมาชิกร่วมกันกำหนดเงื่อนไขกติกาภายในกลุ่มให้เกิดความชัดเจน และเกิดการยอมรับกติกาดังกล่าวร่วมกัน เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้สำหรับสมาชิกทุกคนที่ร่วมทำกิจกรรม
รายละเอียดของกติกาที่ควรมีการกำหนดขึ้นเพื่อบังคับใช้ภายในกลุ่ม มีดังนี้
1. รูปแบบการตอบแทน เนื่องจากสมาชิกอาจมีทัศนคติต่อการรวมกลุ่มทางสังคมแตกต่างกัน บางคนต้องการสิ่งของ/ค่าตอบแทน บางคนต้องการการเชิดชูจากการทำความดี บางคนต้องการทำความดีแต่ไม่ต้องการชื่อเสียง บางคนต้องการเวลาไว้ใช้ในอนาคต เป็นต้น ดังนั้น ธนาคารเวลาต้องกำหนดรูปแบบการตอบแทนที่เหมาะสมในแต่ละกรณี ซึ่งบางครั้งอาจเป็นการเปลี่ยนระบบการตอบแทน เช่น การโอนย้ายคะแนนจากความดีมาเป็นเวลาสะสม และการตอบโจทย์การสะสมในรูปแบบของเวลาต้องมีระบบที่ทำให้เกิดความยั่งยืน
ข้อคิด
|
2. กลไกการบริหารจัดการด้านงบประมาณ (Money) ธนาคารเวลาจะมีต้นทุนการดำเนินงานเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในรูปแบบของเงินทุน งบสาธารณูปโภค สถานที่ บุคลากร ที่สำคัญ แหล่งที่มาของทุนต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิก และต้นทุนที่มีอยู่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดประเภทและขอบเขตในการดำเนินกิจกรรม
3. กลไกบริหารจัดการด้านสถานที่ตั้ง (Material) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการรับสมาชิกใหม่ การลงบันทึกการสะสมและเบิกถอนเวลา โดยทั่วไป ควรเป็นสถานที่ที่สมาชิกสามารถเดินทางได้โดยสะดวก หรืออาจวางระบบสนับสนุนให้สมาชิกไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคารเวลาด้วยตนเอง
สถานที่อาจได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ก่อตั้งธนาคารเวลาก็ได้ เช่น ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ หรือตั้งอยู่ในภายในองค์กรที่ก่อตั้งธนาคารเวลา เป็นต้น
4. การนับเครดิตเวลา ต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจน และกลุ่มยอมรับร่วมกัน โดยมาตรฐานสากล การนับเวลาจะใช้วิธีแปลงเป็นคะแนน โดยอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน ได้แก่ ทุกการกระทำ หรือกิจกรรมช่วยเหลือ นับหน่วยเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เท่ากับ 1 คะแนน 1 กิจกรรม เท่ากับ 1 เครดิต
นอกจากนี้ มีรายละเอียดที่สมาชิกต้องหารือและหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น การคิดเศษของชั่วโมง การกำหนดเวลาโดยใช้รูปแบบของ “กิจกรรม” การกำหนดเวลาที่นับต่อวัน (ขอบเขตการสะสมเวลาต่อวัน) การนับเวลากิจกรรมของกลุ่มที่เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มที่ไม่เป็นสมาชิก เป็นต้น
5. การบันทึกเวลา คือการวางระบบการรายงานกิจกรรมการสะสม และการเบิกถอนเวลา ประเด็นพิจารณาที่สำคัญ ได้แก่
5.1 รูปแบบการบันทึกเวลาการให้บริการ สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ เช่น อาจบันทึกลงสมุด บันทึกลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือในอนาคต อาจมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางของธนาคารเวลา ที่มีการเชื่อมกับแอปพลิเคชัน และสมาร์ทการ์ด
5.2 การรับรองเครดิตและ/หรือรับรองการให้บริการ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจกัน ผู้ที่น่าจะเหมาะสมที่จะรับรองการฝากเวลาเมื่อมีกิจกรรมเกิดขึ้น คือกรรมการธนาคาร ซึ่งพื้นที่เป็นผู้คัดเลือก อาทิ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความโปร่งใส มีระบบรับรองยืนยันที่ชัดเจน และหากเป็นไปได้ ควรมีความสะดวก ไม่เป็นภาระสำหรับสมาชิก เช่น ใช้การส่งงานทางไลน์ ให้ผู้ประสานงานในระดับพื้นที่ช่วยเป็นตัวแทนการลงข้อมูล หรือหากมีความพร้อมสามารถบันทึกเวลาลงในระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งจะช่วยให้การบันทึกเวลาสะดวกยิ่งขึ้น
ซอฟต์แวร์ เพิ่มประสิทธิภาพธนาคารเวลา จากการศึกษาพบว่า ในต่างประเทศมีการนำซอฟต์แวร์มาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น
|
6. การเบิกเวลา ธนาคารเวลาที่ดีต้องมีระบบเบิกเวลาที่เหมาะสม ระบบเวลาควรตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิก เช่น บางคนต้องการสะสมเวลาไว้ใช้ในระยะยาว บางคนต้องการสะสมเวลาแล้วใช้ในระยะสั้น หรือหากสมาชิกบางรายไม่ต้องการใช้เวลาอาจมีระบบ “การโอน” เพื่อให้สมาชิกสามารถโอนเวลาในลักษณะต่าง ๆ ได้
7. สัญลักษณ์การเป็นสมาชิกธนาคารเวลา โดยทั่วไป สมาชิกจะต้องการสัญลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรม คณะกรรมการควรพิจารณาหาทุนสนับสนุนการจัดทำเสื้อสมาชิก ที่สามารถใช้เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในช่วงที่ทำกิจกรรมกลุ่มได้เป็นอย่างดี
8. การติดตามและประเมินผลกิจกรรม ธนาคารเวลาควรมีการวางรูปแบบการติดตามและประเมินผล ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ถึงคุณภาพของการดำเนินงาน ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถพัฒนาการจัดกิจกรรมและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้
ตัวอย่างการติดตามและประเมินผล อาจทำได้โดยการให้ผู้ประสานงานติดต่อส่วนตัวกับผู้ที่รับบริการ และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้กับผู้จัดการธนาคารเวลา ซึ่งจะได้นำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินต่อไป
จรรยาบรรณ สมาชิก “ธนาคารเวลา”
|
เมื่อมีการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ ระบบการบริหารจัดการ กำหนดกฎระเบียบ รวมทั้งมีแผนการทำงาน และระยะเวลาที่ชัดเจนแล้ว สามารถเริ่มดำเนินงานผ่านการจัดกิจกรรมการช่วยเหลือ และเริ่มต้นการเบิก-ถอนเวลาตามรูปแบบที่เห็นพ้องต้องกัน
ทั้งนี้ กฎระเบียบ และแผนงานต่าง ๆ ควรมีการจัดทำเป็นเอกสาร รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อจะได้รับความร่วมมือ สนับสนุนอย่างเหมาะสม
ในส่วนของทีมบริหารจัดการ แม้ว่าช่วงแรกอาจเป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจากกลุ่มผู้ที่มีความสนใจ และมุ่งมั่นที่จะนำกลไกธนาคารเวลามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ แต่เมื่อถึงลำดับของการดำเนินการจริง สถานะของทีมบริหารจัดการควรมีความชัดเจนเพิ่มขึ้น กลุ่มบุคลากรที่เป็นแกนหลักในการจัดตั้ง และดำเนินการธนาคารเวลา อาจมีรูปแบบตามลำดับเวลา ดังนี้
ระยะในการดำเนินงาน | ลักษณะของทีมบริหารจัดการ |
ระยะก่อตั้ง | กลุ่มผู้ก่อตั้งธนาคารเวลา มักเริ่มจากสมาชิกจิตอาสา ประกอบด้วยผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ผู้ประสานงาน สารบัญ/ธุรการ |
เริ่มดำเนินงาน | ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ มีการเปิดรับสมาชิกร่วมทีมบริหาร ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ระดับผู้จัดการ และผู้ประสานงาน ซึ่งเป็นได้ทั้งกลุ่มที่เป็นจิตอาสา และพนักงานประจำ |
ดำเนินงานเต็มรูปแบบ | คณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ โดยมีคณะกรรมการที่ปรึกษา เป็นผู้กำหนดนโยบาย ตัดสินใจ มีการประชุมกันเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง มีสมาชิกจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ และมีพนักงานประจำรับผิดชอบการปฏิบัติงาน |
คณะกรรมการเวลา จะมีการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในธนาคารเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสนับสนุนการเล่าสู่กันในกลุ่มสมาชิกและในชุมชน การสื่อสารข้อมูลสรุปกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อให้สมาชิกและชุมชนวงกว้างได้เห็นถึงประโยชน์ของธนาคารเวลา ในรูปแบบของการรายงานผลผ่านการประชุมประชาคม หรือประชาสัมพันธ์ลงในสื่อโซเชียล เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์กลุ่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจใช้รูปแบบการกระตุ้นให้สมาชิกเกิดความสนใจและกระตือร้นในการทำกิจกรรมของธนาคารเวลา โดยการยกย่องสมาชิกที่ให้บริการ หรือทำประโยชน์แก่สมาชิกอื่นอย่างสม่ำเสมอ เช่น การให้ใบประกาศ
เมื่อธนาคารเวลามีการดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่จะมีการจัดการประชุมกลุ่มสมาชิกเพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น หาแนวทางแก้ไขปัญหา และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนากิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิก ชุมชน และสังคมให้ดียิ่งขึ้น
การจัดการประชุมอาจจัดในลักษณะของกระบวนการถอดบทเรียนการดำเนินงานของธนาคารเวลา เพื่อสะท้อนประสบการณ์และมุมมองของสมาชิก พร้อมกับเป็นการติดตามประเมินผลในรูปแบบของการเสริมพลังซึ่งกันและกัน รวมทั้งเสริมให้เกิดวงจรการเรียนรู้และวางแผนการพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารเวลาอาจจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านการจัดการอบรม การศึกษาดูงาน หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างธนาคารเวลาแห่งอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพและทักษะ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง
เมื่อดำเนินงานมาระยะหนึ่ง จำนวนสมาชิกธนาคารเวลามักจะเริ่มคงตัว จึงมักจะมีการดำเนินเพื่อขยายผล ซึ่งโดยทั่วไป การขยายผลทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
1) การเปิดรับสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารที่กว้างขวางขึ้นเพื่อสามารถสื่อสารไปยังคนในชุมชนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก วิธีการทำได้ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ หรือการสื่อสารทางตรงในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานเลี้ยง งานครบรอบวันก่อตั้งธนาคารเวลา และการใช้สื่อบุคคล โดยการ “บอกต่อ” ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางและได้ผลตอบรับค่อนข้างดี
2) การขยายผลผ่านการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นเพื่อสร้างความร่วมมือทางสังคม เช่น กลุ่มชมรมนักเรียน/นักศึกษา สถานศึกษา กลุ่ม/ชมรมผู้สูงอายุ ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยการขยายผลในลักษณะนี้ อาจต้องมีการติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะกับผู้บริหาร หรือแกนนำของกลุ่มองค์กรที่เป็นเป้าหมาย
การปฐมนิเทศสมาชิกใหม่ เป็นอีกภารกิจสำคัญที่จะต้องจัดให้มีขึ้นภายหลังจากมีการขยายสมาชิกเพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์ของการจัดการปฐมนิเทศก็เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้เรียนรู้เนื้อหา ประวัติความเป็นมา ค่านิยมหลัก 5 ประการของธนาคารเวลา นโยบาย และกฎพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนบริการกับความช่วยเหลือ พบตัวอย่างการดำเนินงานธนาคารเวลา ที่ผู้ประสานงานเป็นผู้ดำเนินการรับสมัครสมาชิก สัมภาษณ์พร้อมการปฐมนิเทศ
นอกจากนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ยังมีข้อเสนอแนะสำหรับการขยายผลการดำเนินงานธนาคารเวลา ว่าสามารถทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
1. ดำเนินการตามหลักการธนาคารเวลาแบบดั้งเดิม หมายถึง การดำเนินตามแนวทางธนาคารเวลาที่ได้มีการริเริ่มจากต่างประเทศอย่างเคร่งครัด มุ่งเน้นการสะสมเวลา การเบิกถอนเวลาเพื่อใช้งาน และการแลกเปลี่ยนที่มีความเท่าเทียมกัน โดยการแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่มสมาชิกธนาคารเวลา
ลักษณะนี้ การพัฒนามุ่งเน้นความเป็นปัจเจกตามแนวทางของสังคมตะวันตก ซึ่งเหมาะกับบริบทของสังคมสมัยใหม่ เช่น การจัดตั้งธนาคารเวลาในสถานที่ทำงาน แต่จะมีข้อด้อย คือเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนหน่วยของเวลาเท่านั้น ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการขยายขนาด
2. ดำเนินการตามหลักการ “ธนาคารเวลา+ (พลัส)” หมายถึง การนำแนวคิดการแลกเปลี่ยนเวลามา “ประยุกต์ใช้” อย่างเหมาะสมตามบริบทและความต้องการของพื้นที่ โดยเปิดให้มีความยืดหยุ่นในการนำกลไกธนาคารเวลาไปใช้งาน และอาจจะไม่จำกัดการแลกเปลี่ยนเฉพาะสมาชิกธนาคารเวลาเท่านั้นที่สามารถมาใช้บริการได้ ตัวอย่างเช่น
การสะสมเวลา อาจใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ให้บริการ ว่าต้องการสะสมคะแนนเป็นเวลา หรือสะสมคะแนนในรูปแบบอื่น เช่น เป็นความดี หรือไม่มีการสะสมเลย
การเบิกถอน อาจไม่อยู่ในรูปแบบของเวลา แต่เป็นรูปแบบอื่น เช่น สิ่งของ บัตรของขวัญ ประกาศนียบัตร การเชิดชูการทำความดี หรือแม้แต่ในรูปของตัวเงิน เป็นต้น
นิยาม “ความเท่าเทียม” อาจขยายกว้างกว่าแค่ “บุคคล” ต่อ “บุคคล” แต่เป็นในระดับครัวเรือน ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ตอบแทน แทนสมาชิกอื่นที่รับความช่วยเหลือได้ เป็นต้น
แนวทางนี้มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ธนาคารเวลา เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน แต่จะมีข้อด้อยคือ 1) ความชัดเจนของรูปแบบการดำเนินงาน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามความตกลงของสมาชิก 2) ความยั่งยืน เนื่องจากไม่เชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนเวลาตามแบบแผน ทำให้ต้องมีกลไกรองรับการเบิกจ่ายคะแนนในรูปแบบต่าง ๆ
กรณีศึกษา: การจัดตั้งและดำเนินงาน
ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนพูนบำเพ็ญ
คุณติ๋วเป็น 1 ในคณะกรรมการชุมชน ที่สนใจแนวคิดธนาคารเวลา จึงอาสาเป็นแกนนำจัดตั้งธนาคารเวลาในชุมชนพูนบำเพ็ญ
1
ศึกษาทำความเข้าใจ จากเอกสาร
คุณติ๋วเริ่มจากศึกษา ทำความเข้าใจแนวคิดธนาคารเวลา ซึ่งคุณติ๋วเล่าว่า อ่านทำความเข้าใจ ก็เข้าใจว่าจะต้องมีกิจกรรมสำหรับแลกเปลี่ยนเครดิตกัน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะแลกเปลี่ยนอะไร
2
ศึกษา ทำความเข้าใจ (ภาคปฏิบัติ)
ตอนนั้นในชุมชนมีการทำแปลงเกษตรร่วมกัน คุณติ๋วจึงทดลองให้เครดิตสำหรับคนที่มีส่วนร่วมในการดูแลแปลงเกษตร โดย คุณติ๋วจะเป็นผู้บันทึกเวลาให้ 1 ชม. = 1 เครดิต และจะย้ำกับสมาชิกทุกครั้งที่มีการโอนเครดิต เพื่อให้ทุกคนรับทราบ
ต่อมาเกิดโควิดระบาด กิจกรรมนี้จึงต้องหยุดพักชั่วคราว
3
กำหนดกิจกรรมบริการ
พอโควิดเริ่มซา คุณติ๋วเริ่มจัดตั้งธนาคารเวลาใหม่ คราวนี้คุณติ๋วชวนสมาชิกในชุมชนมาประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดกิจกรรมสำหรับการแลกเปลี่ยนเครดิต
คุณติ๋วเล่าว่า เลือกกิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนสมัครใจ ไม่กระทบกับรายได้ของคนในชุมชน
4
กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนบริการ
นอกจากนั้น คุณติ๋วยังพยายามไปชักชวนคนในชุมชนเป็นการส่วนตัวให้แลกเปลี่ยนกิจกรรมกัน เช่น ไปชวนเด็กในชุมชนให้สอนใช้มือถือกับผู้สูงอายุ หรือ บางเวลาที่คุณติ๋วว่าง ก็จะส่งข้อความเข้าไปทางไลน์กลุ่มธนาคารเวลา ที่ใช้เป็นช่องทางการขอแลกบริการ ไหว้วานกัน ว่าวันนี้ว่างตอนบ่ายสามถึงสี่โมง ช่วยรีดผ้าได้นะ นอกจากกิจกรรมแลกเปลี่ยน บางครั้งก็จัดกิจกรรมให้สมาชิกมาพบปะรู้จักกัน อย่างกิจกรรมปาร์ตี้ส้มตำ
5
สร้างความรู้ ความเข้าใจ
เมื่อมีโอกาส คุณติ๋วจะบอกกับทุกคน ว่าธนาคารเวลาทำให้เรามีเครดิตเก็บไว้ เวลาไหว้วานกัน จะได้ไม่ต้องเกรงใจ เรามีเครดิตให้เขา คนที่ไม่มีเครดิต หรือ คนติดเตียง ถ้าเขามีครอบครัว เราก็ให้ครอบครัวเขาทำกิจกรรมสะสมเครดิตแทน หรือ ถ้าไม่มีจริงๆ เราก็โอนเครดิตของเราให้ก็ได้
ดังนั้นเวลาคนในชุมชนต้องการจะหาคนไหว้วานให้ทำอะไรสักอย่าง ก็จะแจ้งเข้าไปในกลุ่มไลน์ธนาคารเวลา ฝากให้ทำนู่นนี่นั่น เสร็จแล้วก็จะถ่ายรูปส่งเข้ามาในกลุ่ม เพื่อยืนยัน
6
จัดตั้งคณะทำงาน
พอทำกิจกรรมไปเรื่อยๆ จากตอนต้นที่คุณติ๋วเป็นคนที่ทำงานธนาคารเวลาเพียงคนเดียว คุณติ๋วเริ่มไปชวนคนในชุมชนให้มาเป็นที่ปรึกษา เป็นเหรัญญิก เป็นประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เกิดเป็นคณะทำงานธนาคารเวลาขึ้นมา •