“สังคมไทย” กลายเป็น “สังคมสูงวัย”

2525
ประเทศไทย

มีการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2525 โดยเริ่มต้นจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1

2544
สิ้นสุด

แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1

2545
เริ่ม

แผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินงานผู้สูงอายุในภาพรวม

2548
เข้าสู่สังคมสูงวัย
ประเทศไทย

เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย

2560
คนทำงาน 100 คน

ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุรวม 51 คน

2561
คณะกรรมการ

ผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 กำหนดให้ธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ ปี 2561 – 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ที่มีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Ageing : Healthy, Security and Participation

2563
ปรับปรุง

แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ครั้งที่ 2

2565
complete aged society

ประเทศไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมด


คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ร่างพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ปี 2565 – 2580” กรอบแนวทางการพัฒนาประชากรดังกล่าว มีการวางโครงสร้างพัฒนาประชากรไทยในทุกช่วงวัยด้วยแนวคิด “เกิดดี อยู่ดี กินดี” ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การแก่และการตายอย่างมีคุณภาพ

2570
คาดว่า

ในปี 2570 คนทำงาน 100 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุรวม 64 คน หรือเฉลี่ย 2 : 1

2580
super aged society

มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกินปีนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย ตั้งแต่ปี 2548 

ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (complete aged society) โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี กว่า 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (super aged society) เมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

สัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของประชากรรุ่นใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องจากความแพร่หลายของเทคโนโลยีการคุมกำเนิด ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการแพทย์ ที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวเพิ่มขึ้น จนเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า “เกิดน้อย อายุยืน” โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไป ผลที่ติดตามมาคือภาวะพึ่งพิงวัยทำงาน คาดว่าในปี 2570 คนทำงาน 100 คน ต้องรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุรวม 64 คน หรือเฉลี่ย 2 : 1 เพิ่มจากปี 2560 ที่รับภาระการเลี้ยงดู 51 คน

ประเทศไทยมีการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2525 โดยเริ่มต้นจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2525 – 2544) จากนั้นมีการจัดทำแผนพัฒนาผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาและดำเนินงานผู้สูงอายุในภาพรวม ณ ขณะนี้ประเทศไทยใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2565) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2563

ประเทศไทยยังมีนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมผู้สูงอายุให้สามารถพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ เป็นต้น

ในเดือนพฤษภาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ร่างพัฒนาประชากรเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ปี 2565 – 2580” กรอบแนวทางการพัฒนาประชากรดังกล่าว มีการวางโครงสร้างพัฒนาประชากรไทยในทุกช่วงวัยด้วยแนวคิด “เกิดดี อยู่ดี กินดี” ให้ความสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การเกิดอย่างมีคุณภาพ การอยู่อย่างมีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การแก่และการตายอย่างมีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 พบว่า ผู้สูงอายุไทยกว่า 3.84 ล้านคน (ร้อยละ 38.2 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด) ยังคงทำงาน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในอดีต ผู้สูงอายุร้อย 36.7 ต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตร และในปี 2550 มีผู้สูงอายุร้อยละ 7.7 อาศัยอยู่คนเดียว และมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นร้อยละ 10.7 ในปี 2557

ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” อย่างสมบูรณ์ (complete aged society) เมื่อปี 2565 ด้วยสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดนโยบายและหลากหลายมาตรการเพื่อรองรับ 

นั่นก็รวมถึงการดำเนินงาน “ธนาคารเวลา” โดยในปี 2561 คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 กำหนดให้ธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ ปี 2561 – 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ที่มีเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Ageing : Healthy, Security and Participation

วันที่ 14 สิงหาคม 2561 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เริ่มดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุไทย โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินงานธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 44 พื้นที่นำร่องในทุกภูมิภาคของประเทศ

กล่าวได้ว่า ธนาคารเวลาของไทย มีพัฒนาการที่เชื่อมโยงมาจาก “งานจิตอาสา” พื้นที่นำร่องการดำเนินงานธนาคารเวลาส่วนใหญ่มีงานจิตอาสามาก่อนหน้า ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้สังคมแห่งการแบ่งปัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

จากการสำรวจการดำเนินกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงการสร้างกิจกรรมจิตอาสาและการสะสมเวลา พบว่ามี 3 ลักษณะ ได้แก่ การลงมือร่วมกิจกรรมช่วยเหลือ การบริจาคเงินทุน และการบริจาคสิ่งของ ส่วนการรับสมัครสมาชิก พบว่ามีทั้งสมาชิกระยะสั้น ซึ่งมีการกำหนดช่วงเวลาการดำเนินงานอย่างชัดเจน และสมาชิกระยะยาว คือไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่เป็นการดำเนินงานที่มีความต่อเนื่อง

ประเทศไทย

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนคลองลัดภาชี

    คณะทำงานได้ให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการแลกเปลี่ยนเวลาระหว่างสมาชิก โดยใช้ทักษะและประสบการณ์ของสมาชิกแต่ละคนมาฝากไว้เพื่อจับคู่ในการช่วยเหลือได้ตรงความต้องการ สำหรับการแลกเปลี่ยนของสมาชิกธนาคารเวลาสาขานี้ จะเป็นการช่วยเหลือกันในลักษณะการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ อาทิ การช่วยรดน้ำต้นไม้ การดูแลบ้านในช่วงที่ไม่อยู่บ้าน การซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การย้อมผม การตัดเย็บ ขับรถ ฝากซื้อของ พาไปหาหมอ เมื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกันเรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการฯ จะเป็นผู้บันทึกเวลาให้แก่สมาชิกทั้ง 2 ฝ่าย ในสมุดบันทึกเวลา

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนแป๊ะกงร่วมใจ

   จุดเริ่มต้นในการดำเนินงานของ ผู้จัดการฯ และคณะทำงาน ในการรับสมัครสมาชิกฯ คือ มีการระดมพลังในการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักธนาคารเวลา และสังคมสูงวัยผ่านช่องทางไลน์กลุ่ม เสียงตามสาย และการบอกเล่าปากต่อปาก จนกระทั่งมีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกฯ สำหรับการแลกเปลี่ยนทักษะของสมาชิกธนาคารเวลาฯ แห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือกันในเรื่องความเป็นอยู่ของสมาชิกฯ เช่น การรดน้ำต้นไม้ ตัดต้นไม้ การซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดผม ล้างเครื่องเงิน ดูแลบ้าน เป็นเพื่อนคุย จากนั้นผู้จัดการฯ จะบันทึกเวลาให้กับสมาชิกฯ ทั้งสองฝ่ายที่ทำการแลกเปลี่ยนทักษะนั้น ๆ

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนเลิศสุขสม

    การดำเนินงานขับเคลื่อนธนาคารเวลาของกลุ่มนี้ มีการจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยการจัดเวทีประชาคม ทำความเข้าใจหลักการธนาคารเวลาฯ เวทีรับฟังความคิดเห็น การเสริมศักยภาพสมาชิกฯ หลังจากสมาชิกฯ มีความรู้ความเข้าใจแล้ว ผู้จัดการและคณะทำงานจึงเชิญชวนให้มีการแลกเปลี่ยนทักษะ ซึ่งสมาชิกฯ ที่แจ้งความต้องการขอความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่อง การซ่อมแซมเสื้อผ้า พาไปหาหมอตามนัด สอนการบ้าน การนวดผ่อนคลาย ทำสวน ซ่อมประปา ฯลฯ ผู้จัดการจะเป็นผู้บันทึกเวลา

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนศิรินทร์และเพื่อน

    ธนาคารเวลาฯ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีความเข้มแข็ง และมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน โดยผู้จัดการฯ และคณะทำงานได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยนทักษะของธนาคารเวลาว่าจะช่วยลดความเกรงใจระหว่างเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้านได้ และมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมเป็นสมาชิกธนาคารเวลาฯ สำหรับทักษะที่สมาชิกฯ ได้แลกเปลี่ยนสะสมเวลากัน ได้แก่ การบริการขับรถรับส่ง การตัดผม ย้อมผม งานซ่อมแซม การฝากซื้อของ ดูแลบ้าน ดูแลสัตว์ โดยผู้จัดการจะลงสมุดบันทึกเวลาให้กับสมาชิก

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาชุมชนพูนบำเพ็ญ

    มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้จัดการ คอยบริหารจัดการ มีบทบาทในการรับรองการแลกเปลี่ยนทักษะของสมาชิกฯ และดูแลทำความเข้าใจ พร้อมกับการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ากิจกรรมที่สมาชิกฯ มีการร้องขอและได้มีการแลกเปลี่ยนทักษะกัน มีหลายรูปแบบ อาทิ งานด้านเกษตร เช่น ปลูกผัก ทำแปลงผัก พาไปหาหมอ งานซ่อมแซม ฝากซื้อของ เป็นเพื่อนออกกำลังกาย ทำขนม เมื่อการแลกเปลี่ยนทักษะกันเสร็จสิ้นแล้ว จะแจ้งผลให้ผู้จัดการรับทราบเพื่อบันทึกลงสมุดเวลา

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาบริษัทแกมม่า อินดัสตรี้ส์ จำกัด

    บ.แกมม่าฯ จะมีบริบทแตกต่างจากธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญฯ พื้นที่อื่นๆ คือ เป็นสถานประกอบการที่ไม่มีผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากผู้จัดการมองเห็นคุณค่าด้านคุณภาพชีวิตมากกว่าผลกำไรที่จะได้ จึงร่วมเป็นพื้นที่นำร่องธนาคารเวลาฯ และเชื่อว่าในอนาคตธนาคารเวลาฯ จะทำประโยชน์ให้กับบริษัทและสมาชิกในองค์กรได้โดยไม่ต้องใช้เงินเป็นการจ้าง จึงก่อตั้งธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขาบริษัท แกมม่า อินดัสตรี้ส์ จำกัด สิ่งที่น่าสนใจคือ สมาชิกธนาคารเวลาฯ กลุ่มนี้บางคนมีญาติที่เป็นผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์โดยใช้เวลาของสมาชิกฯ แลกทักษะกับสมาชิกคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นกัน สำหรับทักษะของสมาชิกฯ ที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เช่น งานช่าง ล้างแอร์ ตัดผม ฝากซื้อของ ย้ายหอพัก ขนของ ปลูกผัก ทำแปลงผัก เป็นต้น โดยผู้จัดการจะเป็นผู้บันทึกเวลาให้กับสมาชิกฯ

ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ สาขา ร.ร.บางจาก (โกมลประเสริฐอุทิศ)

ร.ร.บางจากฯ เป็นธนาคารเวลาฯ สาขาแรกของสถาบันการศึกษา ในพื้นที่ภาษีเจริญ บริหารจัดการ โดยมีนักเรียนเป็นผู้จัดการธนาคารเวลาเยาวชนและคณะทำงาน ขับเคลื่อนร่วมกับบุคลากรครู มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นที่ปรึกษา

สำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทักษะ ส่วนใหญ่ได้แก่ การทำงานบ้าน สอนการบ้าน เป็นเพื่อนพูดคุย สอนเต้น ปลูกผัก ช่วยรดน้ำต้นไม้ งานประดิษฐ์ ขนย้ายของ สอนเล่นกีฬาฟุตซอล โดยมีผู้จัดการฯ บันทึกเวลา

ธนาคารเวลา Young Happy

    รับสมัครสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุในเขตเมืองมาร่วมกิจกรรมในแนวจิตอาสา ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกประมาณ 400 คน ที่หมุนเวียนมาร่วมกิจกรรม 

มีผู้จัดการธนาคารเวลา ทำหน้าที่ประสานงาน ดูแลกิจกรรม รับฝากเวลา เพิ่มเครดิตเวลาให้กับสมาชิก ในการติดต่อกับสมาชิกจะสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งใช้การประชาสัมพันธ์กิจกรรม การรับสมัคร หรือการสะสมคะแนน

หากเทียบการดำเนินงานธนาคารเวลายังแฮปปี้ กับธนาคารเวลาที่อื่นๆ จะพบว่าหลักการและทฤษฎีค่อนข้างมีความแตกต่างกัน  คือ ยังแฮปปี้ ไม่มีการนำเครดิตเวลาสะสมไปแลกเปลี่ยนบริการจากสมาชิกด้วยกัน แต่สามารถนำ ไปแลกของรางวัล หรือบริการด้านกิจกรรมได้

 ธนาคารเวลายังแฮปปี้ มีกิจกรรมที่มีรูปแบบจิตอาสา 2 ลักษณะ ดังนี้

  • กิจกรรมจิตอาสาแบบองค์กรกับองค์กร อย่างโครงการธนาคารเวลายังแฮปปี้ x TOCA  ยังแฮปปี้มีสถานะเป็นองค์กร ที่มีสมาชิก และพาไปแลกกับอีกองค์กรที่ต้องการให้จิตอาสา มาช่วยเสนอความคิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ และจิตอาสาเป็นคณะกรรมการฝั่งผู้บริโภคที่คอยตรวจสอบคุณภาพผลผลิต ในขณะที่สมาชิกธนาคารยังแฮปปี้ ต้องการได้รับความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น และสนใจไปเที่ยวฟาร์มเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ตรงวัตถุประสงค์ของทั้งสองฝ่าย
  • กิจกรรมจิตอาสาแบบองค์กรกับบุคคล อย่างกิจกรรม วัยเก๋าติดเกราะไซเบอร์ ที่ให้สมาชิกของธนาคารเวลาเป็นจิตอาสาดูแลให้คำแนะนำการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี กับเพื่อนผู้สูงอายุที่เป็นนักเรียนมือใหม่ในคอร์สเรียนทางออนไลน์   

ธนาคารเวลาเวลาจิตเวชชุมชน ศิริราชพยาบาล (ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)

    กิจกรรมหลักของธนาคารเวลาแห่งนี้คือ เยี่ยมบ้าน ทำให้เกิดธนาคารเวลาในรูปแบบ องค์กรกับสมาชิก คือ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กับบุคคลสมาชิกที่ทำงานร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์ในการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วย เป็นการสนับสนุนงานของภาควิชา ทำให้สามารถเยี่ยมผู้ป่วยได้ถี่ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และสมาชิกจะได้รับเครดิตเวลาทุกครั้งที่ลงเยี่ยม ซึ่งสามารถนำมาแลกสิทธิประโยชน์จากองค์กร อาทิ บริการเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ บริการนวด บริการรับคำปรึกษาจากนักสังคมสงเคราะห์

ธนาคารเวลาพาสุข

    บริการผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อาทิ สมาชิกธนาคารเวลาพาสุข จำนวน 3 คน ที่มีทักษะการให้คำปรึกษาผู้ป่วยจิตเวช, อดีตนักสังคมสงเคราะห์ และทนายความ ได้ลงพื้นที่เข้าให้บริการสมาชิกในชุมชนลาดพร้าว 45 จำนวน 2 ครอบครัว ซึ่งขอรับความช่วยเหลือในการส่งต่อคนในครอบครัวที่เสพยาเกินขนาดจนป่วยเป็นโรคจิตเวช และโรคจิตเภท

    ธนาคารเวลาพาสุข เปิดบริการพิเศษ “ให้คำปรึกษาเพื่อบรรเทาความเครียดกังวล” สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เพราะผู้สูงวัยส่วนมาก เคยชินกับการเป็นที่พึ่งให้คนอื่น พอตัวเองมีปัญหา กลับไม่รู้จะปรึกษาใคร และ การได้คุยกับคนวัยเดียวกัน น่าจะทำให้รู้สึกสบายใจมากกว่า เป็นบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นสมาชิกธนาคารเวลา

ธนาคารเวลาวัยสุข

    ชักชวนเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสวนโมกข์มาร่วมเป็นสมาชิก เมื่อมีการจัดสต็อกหนังสือในห้องสมุดทางเจ้าหน้าที่ก็จะขอบริการขอคนช่วย จึงมีการแลกเปลี่ยนเครดิต กับกิจกรรมระหว่าง สมาชิกที่เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสวนโมกข์ และสมาชิกที่ไปช่วยงาน กล่าวได้ว่า ธนาคารเวลาวัยสุข ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสวนโมกข์เป็นหลัก

ธนาคารเวลาปันสุข

    ใช้แนวคิดในการทำงานคือ ต้องขึ้นต้นด้วยการหาทักษะและบริการของสมาชิกในกลุ่มก่อนว่าธนาคารเวลาของเราจะแลกเปลี่ยนอะไรกันได้บ้าง ถ้าไม่สามารถแลกบริการกันได้ ให้นำทักษะนี้มาแลกเป็นกิจกรรมอื่น ๆ เช่น Book Club ทำให้ได้เห็นรูปแบบ การกำหนด การแลกเปลี่ยน การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดองค์ความรู้จากปันสุข นำไปสู่ วัยสุข และ พาสุข ด้วยเหมือนกัน  เป็นแนวคิดที่ธนาคารเวลาอื่น ๆ สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ได้

ธนาคารเวลาเครือข่าย LPP

    สมาชิกได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เรียบร้อยแล้ว สามารถนำเครดิตเวลาที่สะสมไว้มาแลกรับบริการได้ โดยมีรูปแบบในการตอบแทน ได้แก่  

รูปแบบที่ 1 สมาชิกที่ร่วมกิจกรรม ดนตรีในสวน สามารถใช้เครดิตเวลา แลกรับบริการจากเพื่อนสมาชิก และบริการทำความสะอาดได้ตามช่วงเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

รูปแบบที่ 2 สมาชิกที่ใช้เวลาคัดแยกขยะและนำมาส่ง ณ บริเวณจุดที่กำหนดจะได้รับเครดิตตามจำนวนที่กำหนดในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง เพื่อที่จะไปแลกกับบริการที่นิติบุคคลฯ เตรียมไว้ให้ เช่น บริการทำความสะอาด บริการรถตู้รับ-ส่ง บริการล้างแอร์ เป็นการแลกบริการระหว่างนิติบุคคลฯ กับลูกบ้านเท่านั้น ไม่มีแลกบริการระหว่างเพื่อนสมาชิกด้วยกัน

ต่างประเทศ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในการก่อเกิดธนาคารเวลาของประเทศต่างๆ

1827
"ร้านค้าเวลา"

สะสมบัตรแรงงานจากการทำงานจริงเป็นชั่วโมง และนำไปแลกสินค้า ซึ่งมูลค่าสินค้าอ้างอิงจากจำนวนชั่วโมงที่ผลิตสินค้า ในสหรัฐอเมริกา

1973
ธนาคารเวลากลุ่มแม่บ้าน

อาสาสมัครในประเทศญี่ปุ่น

1980
พัฒนาแนวคิด

เอ็ดการ์ คาห์นหัวใจวาย และเริ่มพัฒนาแนวคิดธนาคารเวลา

1982
LETS

กำเนิดแนวคิดการแลกเปลี่ยนในชุมชน Local Exchange Trading System ที่แคนาดา

1987
Nursing Home

สหรัฐอเมริกา นําร่องธนาคารเวลา ใน Nursing homes 6 แห่ง

1992
ดูแลผู้สูงอายุ

มีการใช้รูปแบบธนาคารเวลาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ในเมืองปาร์มา อิตาลี

1995
เป็นทางการ

ก่อตั้งธนาคารเวลาอย่างเป็นทางการในอิตาลี “Banca del Tempo”


ก่อตั้ง TimebanksUSA เอ็ดการ์ คาห์น ดํารงตําแหน่ง CEO

1998
สหราชอาณาจักร และ สเปน

ก่อตั้งธนาคารเวลา ของสเปน “Banco de Tiempo”


ก่อตั้งธนาคารเวลาในสหราชอาณาจักร ภายใต้ชื่อ “Fair Share”

2002
หลายประเทศ

ก่อตั้งธนาคารเวลา “วงแหวนแห่งรัก”
ที่เกาหลีใต้


ก่อตั้งธนาคารเวลาในอิสราเอล ที่นครเยรูซาเลม


กำเนินธนาคารเวลาแคนาดา ที่รัฐควิเบค “L'Accorderie”


ก่อเกิด ธนาคารเวลาประเทศโปรตุเกส
“Banco de Tempo”

2004
เดนมาร์ค

เดนมาร์คเคลื่อนไหวจัดตั้งธนาคารเวลา

2005
นิวซีแลนด์ และ เซเนกัล

ก่อตั้งธนาคารเวลาประเทศนิวซีแลนด์


เซเนกัล ดําเนินงานธนาคารเวลา ในศูนย์พัฒนา ส่งเสริมความรู้แก่
เด็กและสตรี

2012
ชิลี สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ

ก่อตั้งธนาคารเวลา ในประเทศชิลี


ก่อตั้งธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ “Zeitvorsorge St. Gallen”


ก่อตั้งธนาคารเวลา ในประเทศออสเตรเลีย


ก่อตั้งธนาคารเวลาในกรุงปารีส ฝรั่งเศส “L'Accorderie”


ก่อตั้งธนาคารเวลาในประเทศกัวเตมาลา

2017
ไอร์แลนด์

ก่อตั้งธนาคารเวลาในไอร์แลนด์ hOUR Timebank

2018
ไทย

คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 กำหนดให้ธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ ปี 2561 – 2564

2019
อินเดีย

ก่อตั้งธนาคารเวลาในอินเดีย “Time Seva Bank”

แหล่งที่มา: รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการศึกษาการพัฒนารูปแบบและกลไกการดําเนินงานธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ มูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน (มวมช.) สนับสนุนการดําเนินงานโดย สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนาคม 2564

หลายประเทศทั่วโลกมีการจัดตั้งธนาคารเวลาขึ้นในรูปแบบและการดำเนินงานที่แตกต่างกัน แม้จะยังมีข้อถกเถียงว่าแท้จริงแล้ว ธนาคารเวลามีต้นกำเนิดจากที่ใดกันแน่ สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น กระนั้น ธนาคารเวลาทุกแห่งต่างมุ่งเน้นให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บนพื้นฐานของความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งการดูแลกลุ่มเปราะบาง อย่างผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือคนยากคนจน 

โดยมีตัวอย่างธนาคารเวลาที่น่าสนใจ ดังนี้

สหรัฐอเมริกา: องค์กรส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารเวลา

สหรัฐอเมริกา ถือเป็นต้นกำเนิดของธนาคารเวลา โดยในช่วงทศวรรษ 1980 มีการริเริ่มใช้ “เหรียญเวลา” (time dollars) ในการแลกเปลี่ยนกัน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อมาในปี 1987 มูลนิธิโรเบิร์ต วูด จอห์นสัน (Robert Wood Johnson Foundation) ได้สนับสนุนทุนจัดตั้งธนาคารเวลาเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในพื้นที่นำร่องแห่งแรกในนิวยอร์ก หลังจากนั้น ชุมชนหลายแห่งเริ่มจัดตั้งและดำเนินงานธนาคารเวลากันเอง

ปี 1995 เอดการ์ เอส. คาห์น (Edgar S. Cahn) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้จดทะเบียนจัดตั้งธนาคารเวลาของสหรัฐอเมริกา หรือ Time Banks USA อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำธนาคารเวลาไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนทั่วประเทศ ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา 

บทบาทของธนาคารเวลาของสหรัฐอเมริกา คือการส่งเสริมองค์ความรู้ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม การประชุม การวิจัยทางวิชาการ ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องมือการดำเนินงาน เช่น คู่มือ หลักสูตร ซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูล (Community Weaver) เป็นต้น รวมทั้งมีการสนับสนุนความร่วมมือในลักษณะ “เครือข่ายธนาคารเวลา” เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบธนาคารเวลา 

การบริหารจัดการของธนาคารเวลาของสหรัฐอเมริกา ค่อนข้างเป็นระบบ โดยมี เอดการ์ เอส. คาห์น ผู้ก่อตั้ง รับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร มีกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น สาธารณสุขของชุมชน นักมานุษยวิทยาที่มีความชำนาญด้านเครือข่ายทางสังคม เป็นต้น

กลุ่มคน/องค์กร ที่ธนาคารเวลาของสหรัฐ มีการทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด ค่อนข้างหลากหลาย และกระจายในหลายมลรัฐ เช่น เด็กนักเรียน วัยรุ่นในระบบยุติธรรม นักสังคมสงเคราะห์ ครอบครัวที่รับมือกับความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้สูงอายุที่ต้องการพักอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยในบ้านพักคนชรา ศิลปินและนักดนตรี ไปจนถึงนักโทษและผู้ที่พ้นโทษแล้ว เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน ธนาคารเวลาที่นำแนวคิดของเอดการ์ เอส. คาห์น ไปประยุกต์ใช้ มีจำนวนสมาชิกตั้งแต่ต่ำกว่า 20 คน ไปจนถึงมากกว่า 100 คน

ญี่ปุ่น – ธนาคารเวลา เพื่อสังคมสูงวัย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก และเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุด ธนาคารเวลาถูกใช้เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการจัดบริการการดูแลผู้สูงอายุผ่านการแลกเปลี่ยนเวลา เป็นระบบการทำงานแบบแลกเปลี่ยนบริการ (Service Exchange System) 

มีข้อมูลที่ระบุถึงการเกิดขึ้นของธนาคารเวลาในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของธนาคารเวลาในโลกนี้ ว่าในปี 1973 กลุ่มแม่บ้านในโอซาก้าอยากสร้างสกุลเงินเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการภายในชุมชน โดยงานทุกอย่างมีค่าเท่าเทียมกัน และคิดตามระยะเวลาที่ทำ เพื่อที่คนด้อยโอกาสจะได้มีงานทำและอยู่รอดได้ รวมทั้งสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้โดยเท่าเทียมกัน 

“ไทมุ บางขุ” (Taimu Banku) หรือ Time Bank จึงก่อกำเนิดขึ้น และได้รับการเผยแพร่แนวคิดสู่สาธารณะผ่านทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ พอถึงปี 1979 ธนาคารเวลาก็ขยายตัว จนมีสาขาอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ

ในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อจำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ธนาคารเวลาก็ยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีก มีสมาชิกร่วมออมเวลากับธนาคารเวลาทั่วประเทศ และบางแห่ง เวลา สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย

ธนาคารเวลาของญี่ปุ่น มีหลักคิดว่า เมื่อสมาชิกให้บริการ 1 ชั่วโมง จะได้รับ 1 คะแนน เก็บไว้ในบัญชีธนาคารเวลาส่วนบุคคล และสามารถนำคะแนนนี้ไปใช้บริการได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ธนาคารเวลาในญี่ปุ่น ไม่ได้ให้บริการเฉพาะการบริการผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมผ่านการเป็นอาสาสมัครด้วย

ปัจจุบัน ธนาคารเวลาของญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือคนพิการ ในการดูแลสุขภาพ ดูแลส่วนบุคคลในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้าน หรือช่วยซื้อข้าวของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ เป็นต้น สมาชิกจะได้รับเครดิตเวลา เพื่อการดูแลตนเองในภายหลัง และเครดิตเวลาสำหรับการดูแลสุขภาพเหล่านี้ รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางได้จัดทำระบบเครือข่ายข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ เพื่อให้สมาชิกสามารถให้และรับความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงในโตเกียว ขณะเดียวกัน เครดิตเวลาของสมาชิกแต่ละคน พ่อแม่ของเจ้าของบัญชีสามารถถอนออกมาใช้งานได้ด้วยไม่ว่าจะพักอาศัยอยู่ส่วนใดของประเทศ

สหราชอาณาจักร: ส่งเสริมธนาคารเวลาเพื่อผู้ด้อยโอกาส

ธนาคารเวลาในประเทศสหราชอาณาจักร ใช้ชื่อว่า Timebanking UK มีสถานะเป็นองค์กรการกุศล จัดตั้งขึ้นในปี 2015 มีความคล้ายคลึงกับของสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการให้กับธนาคารเวลาแห่งอื่น ๆ ในระดับท้องถิ่น เพื่อมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงกลุ่มที่ขาดโอกาส เช่น ผู้ลี้ภัย คนไร้ที่อยู่อาศัย คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ บทบาทคือการสนับสนุนด้านปฏิบัติการ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างเครือข่ายการสนับสนุนซึ่งกันและกันในชุมชน เพื่อให้ธนาคารเวลาย่อย ๆ มีความมั่นคง และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

ความน่าสนใจอยู่ที่รูปแบบการจัดการของธนาคารเวลาภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารเวลาในสหราชอาณาจักร ซึ่งมี 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

  1. ธนาคารเวลา ที่จัดการตนเอง โดยชุมชนท้องถิ่นจัดกิจกรรมโดยใช้หลักการ “เวลามีค่าเท่ากัน” สมาชิกจะได้รับการบันทึกเครดิตเวลาจากการทำกิจกรรมให้กับเพื่อนสมาชิกคนอื่น ๆ เช่น การไปซื้อของใช้จำเป็นให้ผู้สูงอายุ หรือไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับสมาชิกที่ต้องทำงานประจำ เป็นต้น
  2. ธนาคารเวลา ที่อยู่ภายในองค์กร โดยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรม เช่น โรงพยาบาลต้องการให้บริการดูแลผู้ป่วยที่กลับไปพักฟื้นที่บ้าน 
  3. ธนาคารเวลา ที่มีเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรต่อองค์กร

เดนมาร์ก - แปลง “ภาษี” เป็น “เวลา”

ธนาคารเวลาในประเทศเดนมาร์ก หรือ Timebank DK เริ่มดำเนินการในปี 2004 ด้วยทุนประเดิม 3 เดือนแรกจากเทศบาลเมือง Aarhus ก่อนจะได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมจากสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา เพื่อดำเนินโครงการนำร่องระยะ 2 ปี Aarhus เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ มีประชากรประมาณ 200,000 คน ธนาคารเวลาถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ใน 3 ชุมชน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ Gellerup, Hasle และ Herredsvang 

ประเด็นน่าสนใจของธนาคารเวลาในเดนมาร์ก คือการที่ Ligningsraadet ซึ่งเป็นสภาที่มีอำนาจทางภาษีสูงสุดของประเทศ มีคำตัดสินว่า “โครงการธนาคารเวลาต้องเสียภาษี” หมายถึงสมาชิกต้องจ่ายภาษีจากการให้และรับบริการผ่านธนาคารเวลา คำตัดสินครั้งนี้กลายเป็นการกระตุ้นความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งนักการเมือง ที่พยายามหาทางแก้ปัญหาให้ธนาคารเวลาสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสียภาษีบริการ

ผลสุดท้าย เมื่อธนาคารเวลาในประเทศเดนมาร์ก เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา การจ่ายภาษีในการให้และรับบริการเป็นในรูปแบบของ “เวลา” ไม่ใช่เงิน

สวิตเซอร์แลนด์ – คิดแบบ “หมู่บ้าน” สู่การดูแลผู้สูงวัย “ในเมือง”

ธนาคารเวลาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัยโดยเฉพาะ เนื่องจากในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรสูงอายุของสวิตเซอร์แลนด์จากที่เคยมีสัดส่วน 1 ใน 10 ของประชากรทั้งประเทศ ล่าสุด เพิ่มเป็น 1 ใน 6 ขณะที่ระบบบำนาญและการดูแลผู้สูงอายุเติบโตไม่ทันกับสถานการณ์ด้านประชากร ซึ่งผู้สูงอายุบางส่วนต้องการการดูแลเป็นพิเศษ จึงเป็นที่มาของการนำวิธีคิดแบบ “ชุมชนหมู่บ้าน” ที่คนในชุมชนใส่ใจดูแลกันและกัน มาใช้ใน “ชุมชนเมือง”

ในปี 2008 ธนาคารเวลาแห่งแรก เริ่มต้นที่เมือง St.Gallen มีประชากร 72,522 คน สำนักงานประกันสังคมได้จัดโครงการนำร่อง ภายใต้แนวคิดผู้สูงอายุ “สุขภาพดี มีเวลา” เพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้าน และต้องการการดูแลช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยซื้อข้าวของในชีวิตประจำวัน การทำความสะอาดบ้าน การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือบริการช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน

ธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ มีระบบการบันทึกเวลาในการให้บริการ โดยทุก 1 ชั่วโมงการทำงาน จะถูกบันทึกเป็น “เครดิตเวลา” ในบัญชีธนาคารส่วนบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการดูแลรักษาตัวเองในภายหลังการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูล ดำเนินการโดยธนาคารเวลา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานประกันสังคม 

ธนาคารเวลาสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุแล้ว ยังเป็นการลดภาระด้านงบประมาณการให้บริการทางสังคมของภาครัฐ ช่วยลดภาระให้กับลูกหลานซึ่งเป็นคนวัยทำงาน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเสริมค่านิยมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการแบ่งปัน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชุมชนท้องถิ่น คนหนุ่มสาวซึ่งมีเวลาว่างจากการทำงาน สามารถไปดูแลผู้สูงอายุ และสะสมเวลาในบัญชีส่วนบุคคล เพื่อไว้ใช้ในยามที่ตนเองสูงอายุ และทำการงานไม่ได้อีกด้วย

กรณีตัวอย่าง “คริสตินา” กับอาจารย์สูงวัย

คริสตินา ทำสัญญาที่จะดูแลอาจารย์สูงอายุ เป็นเวลา 1 ปี แต่ละวันเธอจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการช่วยเหลืองาน เช่น ทำความสะอาดบ้าน พาอาจารย์ไปเดินเล่น ซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงพูดคุยและช่วยงานอื่น ๆ ที่ทำได้

 เมื่อครบ 1 ปี เธอจะได้รับ “บัตรธนาคารเวลา” ที่มีสถิติเครดิตเวลาในรอบปีที่ผ่านมา โดยเธอสามารถโอนเครดิตเวลาให้สมาชิกในครอบครัวได้ด้วย ถ้าเกิดกรณีคนที่บ้านต้องการการดูแลช่วยเหลือ สามารถแจ้งมายังระบบการจัดการ และธนาคารเวลาจะประสานอาสาสมัครเข้าไปดูแลสมาชิกในครอบครัวของคริสตินา

 และหากคริสตินาเสียชีวิตก่อนที่จะได้ใช้บัตรเครดิตเวลา ธนาคารเวลาจะแปลงจำนวนชั่วโมงเป็นเงินหรือผลตอบแทนอื่นให้กับทายาทของคริสตินาได้เช่นกัน

แคนาดา – บูรณาการเสริมความเข้มแข็งระบบสหกรณ์ชุมชน

ธนาคารเวลาในประเทศแคนาดาที่น่าสนใจ ได้แก่ ธนาคารเวลาในย่านเซนต์เจมส์ เมืองโทรอนโต รัฐออนแทรีโอ ซึ่งเป็นย่านที่มีประชากรหนาแน่น และหลากหลายที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ ประชากรราว 30,000 คน มาจากกว่า 100 ประเทศ ใช้ภาษาที่แตกต่างกันราว 160 ภาษา ประชากรในย่านนี้มีทั้งกลุ่มที่มีการศึกษาสูง มากความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งกลุ่มผู้อพยพที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งขาดบริการทางสังคมในชุมชน

ธนาคารเวลาถูกจัดตั้งขึ้น โดยบูรณาการเข้ากับการดำเนินงานของสหกรณ์ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง มีการริเริ่มโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การสร้างสวนผักเรือนกระจกในชุมชน การจัดตั้งศูนย์อาหารเพื่อชุมชน เป็นต้น ทำให้สมาชิกชุมชนซึ่งมีทักษะหลากหลายสามารถสร้างงานในชุมชน โดยไม่ต้องออกไปหางานทำภายนอก 

เมื่อนำธนาคารเวลาไปผนวกกับงานของสหกรณ์ชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่าง ๆ แทนที่จะใช้เงินเหมือนที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ “เครดิตเวลา” โดยมีการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเป็นสื่อกลาง ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการดำเนินงานของสหกรณ์ชุมชนได้เป็นอย่างดี

ไอร์แลนด์ - “บัญชีชุมชน” รับบริจาคเครดิตเวลาเหลือใช้

ในประเทศไอร์แลนด์ คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่อยากทำประโยชน์ให้คนอื่นมากกว่า โดยเฉพาะในหมู่เพื่อนฝูง เครือญาติ และคนที่คุ้นเคยกัน ธนาคารเวลาของไอร์แลนด์ ก่อตั้งในปี 2561 ใช้ชื่อว่า hOUR Timebank-Ireland ต้องการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเหล่านี้ขยายวงกว้างไปในชุมชนและสังคม จึงใช้วิธีให้คนที่อยากช่วยเหลือคนอื่นนำทักษะของตนเองมาช่วยเหลือคนอื่นก่อน แล้วบันทึกเป็นเครดิตเวลา เพื่อที่การแลกเปลี่ยนการทำประโยชน์ระหว่างกันจะเริ่มต้นขึ้นได้

การออมเวลาในระยะยาวทำให้มีจำนวนชั่วโมงสะสมในธนาคารเวลาเป็นจำนวนมาก ธนาคารเวลาไอร์แลนด์จึงเปิดให้สมาชิกที่ไม่ต้องการใช้เวลาที่สะสมไว้ บริจาคให้คนอื่น ๆ หรือจะโอนกลับไปที่ “บัญชีชุมชน” แล้วเจ้าหน้าที่ของธนาคารเวลาจะบริหารจัดการเพื่อให้การบริการช่วยเหลือส่งผ่านไปยังสมาชิกที่มีเครดิตเวลาสะสมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ธนาคารเวลาไอร์แลนด์ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการให้บริการภายใต้การแลกเปลี่ยนเวลาของสมาชิกแต่ละกรณี ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น จึงกำหนดให้ผู้ให้และผู้รับบริการ จะต้องตกลงร่วมกันให้ชัดเจน ว่าในแต่ละกรณีของการแลกเปลี่ยน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดตามมาภายหลัง

สเปน - กิจกรรมสร้างสรรค์ สานสัมพันธ์เพื่อนบ้าน

ธนาคารเวลาในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เริ่มต้นขึ้นในปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เฉพาะที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ 9 แห่ง และที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการอีกเป็นจำนวนมาก ธนาคารเวลาแต่ละแห่งสื่อสารอัตลักษณ์พื้นถิ่นของตนเองผ่านการเสนอตัวให้บริการด้านต่าง ๆ ของสมาชิก ทั้งงานบริการทั่วไป ซึ่งมีการจัดระบบฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และบริการและกิจกรรมพิเศษ เช่น การให้ความรู้ การจัดกิจกรรมนอกสถานที่ การฝึกอบรมที่น่าสนใจ เช่น การตัดเย็บ การเย็บปักถักร้อย เป็นต้น

บทบาทสำคัญของธนาคารเวลาในบาร์เซโลนา คือการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน จากต่างคนต่างอยู่ ขาดความใส่ใจเพื่อนบ้าน ไม่สนใจสภาพแวดล้อม มาเป็นการรู้จักกันเพิ่มขึ้น มีเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรมซึ่งกันและกัน สมาชิกคุ้นเคยกันจากการแลกเปลี่ยนบริการ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน

กลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธนาคารเวลาในบาร์เซโลนา เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการสร้างกิจกรรมเป็นประโยชน์ และการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างการเชื่อมเครือข่ายร้านเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งก่อนหน้านี้ซบเซาลง เพราะคนในชุมชนมองว่าคนจนเท่านั้นที่ใช้สินค้ามือสอง ธนาคารเวลาจึงวางแผนสื่อสารเพื่อปรับมุมมองต่อเสื้อผ้าเก่าเหล่านี้ เพื่อให้คนเล็งเห็นถึงแง่มุมของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่น ๆ อย่างเกษตรอินทรีย์ กองทุนอาหารเพื่อสุขภาพ กิจกรรมเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

เซเนกัล – สร้างมูลค่าให้เวลา สร้างอาชีพให้ผู้หญิงในชุมชน

ความน่าสนใจของธนาคารเวลาในประเทศเซเนกัล คือการนำระบบแลกเปลี่ยนเวลาไปใช้ในศูนย์ฝึกอบรมอาชีพให้กับสตรีและเด็ก (GRADES – Groupe de Reflex- ion et d’Action pour le Developpement du se-negal) ซึ่งมีอยู่ก่อนหน้า โดย GRADES เป็นศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับคนว่างงานในชุมชน มีสมาชิก 55 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และมีเด็กเล็ก 50 คนเข้ามาอยู่ในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก

ปัญหาก็คือ สมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ประจำ และไม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้เนื่องจากต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้งานของ GRADES ไม่สามารถขยายตัวได้ เมื่อเริ่มนำระบบธนาคารเวลามาใช้ในปี 2548 โดยสมาชิกสามารถแปลงเวลาและทักษะที่ตนเองมีเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เครดิตเวลาที่ได้มา สมาชิกสามารถนำไปแลกสิ่งของจำเป็นโดยไม่ต้องนำเงินไปซื้อหา 

หลังจากนำแนวคิดธนาคารเวลามาเสริม GRADES เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านขนาดและขอบเขตการทำงาน โดยในปี 2553 สมาชิก 50,000 ราย ผ่านการฝึกอบรมด้านโภชนาการ ด้านสุขภาพและการติดเชื้อ HIV/AIDS มีนักเรียน 500 คน ได้รับการบริการจาก GRADES มีเด็กจบการศึกษา 900 คน ผู้เข้ารับการอบรม 52,000 คน ได้รับทักษะทางธุรกิจและการฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1,250 คนจบการศึกษาจากหลักสูตรการตัดเย็บ และสามารถนำทักษะที่ได้ไปสร้างงานสร้างอาชีพ

อินเดีย – ฟื้นวัฒนธรรมเดิม เพิ่มระบบจัดการมีประสิทธิภาพ

สำหรับสังคมอินเดีย การช่วยเหลือกันของคนในชุมชนโดยไม่มีเงินทองมาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยก่อน หากคนในชุมชนสร้างบ้านใหม่ หรือจัดงานแต่งงาน เพื่อนบ้านจะอาสามาช่วยกันตามกำลังและความรู้ความสามารถที่แต่ละคนมี แม่บ้านมาช่วยทำอาหาร ขนมหวาน ผู้ชายช่วยกันดูแลความพร้อมด้านต่าง ๆ ผู้สูงอายุช่วยจัดการเรื่องพิธีกรรม ไม่มีใครถามหาค่าจ้างค่าแรง หรือสิ่งตอบแทนอื่นใด 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมความช่วยเหลือกันเช่นนี้เริ่มจางหายไปจากวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย การพัฒนาจากชุมชนชนบท สู่ความเป็นเมือง รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนไป จากการอยู่อาศัยกันเป็น “ครอบครัวขยาย” สังคมอินเดียยุคใหม่ มีลักษณะเป็น “ครอบครัวเดี่ยว” เพิ่มขึ้น คนมีลูกกันน้อยลงด้วยการเข้าถึงการคุมกำเนิดที่แพร่หลาย เทคโนโลยีการแพทย์และระบบดูแลสุขภาพที่ก้าวหน้า ยังส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยตามวัย ในขณะที่ลูกหลานแยกย้ายไปทำงานในเมือง หรือต่างเมือง ไม่สามารถดูแลพ่อแม่และผู้สูงอายุในครอบครัวได้ใกล้ชิดเหมือนในอดีต

ธนาคารเวลา Kochi เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2560 เริ่มจากสมาชิกชุดแรกจำนวน 60 คน และขยายตัวต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กิจกรรมธนาคารเวลาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า วัฒนธรรมของขวัญ ซึ่งเป็นแนวคิดว่าด้วยการให้และการรับโดยไม่ต้องทำธุรกรรมทางการเงิน 

ธนาคารเวลาสื่อสารแนวคิดกับคนรุ่นใหม่ง่าย ๆ ว่าเป็นการให้เวลาของตนเองกับคนที่เสนอขอเวลาเข้ามาในระบบข้อมูล โดยยกตัวอย่าง ผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว ต้องการคนพาไปโรงพยาบาล เมื่อคุณ A ช่วยได้และมีเวลาสะดวกตรงกัน คุณ A ก็เสนอตัวพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัด โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง คุณ A ก็จะได้เครดิตเวลา 3 ชั่วโมงบันทึกในบัญชีที่เปิดไว้กับธนาคารเวลา เมื่อคุณเอต้องการบริการใดก็แจ้งเข้าระบบ ถ้าสมาชิกคนอื่น ๆ พร้อมช่วยเหลือก็จะเสนอตัวในลักษณะเดียวกัน

กัวเตมาลา - ธนาคารเวลา เสริมชุมชนเข้มแข็ง

ธนาคารในประเทศกัวเตมาลาเน้นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ให้บริการประชาชนที่เป็นสมาชิก และสร้างความสัมพันธ์ภายในชุมชน โดยมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ คือ กรอกข้อมูลส่วนตัว เข้าร่วมปฐมนิเทศ กรอกทักษะ หรือพรสวรรค์ของตนเอง ลงบันทึกข้อมูลทักษะและบริการของผู้อื่นที่ต้องการ สมาชิกจะมีการนัดหมายกันตามความเหมาะสม และบันทึกเวลาลงในบัญชีส่วนบุคคล

เกาหลีใต้ – เติมเต็มช่องว่าง บริการภาครัฐ

ธนาคารเวลาโซล จัดตั้งขึ้นในปี 2565 หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเทศบาลนครโซล มีแนวคิดที่ต้องการให้ชุมชนเมืองมีการดูแลช่วยเหลือในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนที่หน่วยงานรัฐเข้าไม่ถึง หรือมีบางภารกิจที่ภาครัฐยากจะจัดบริการให้ได้

สังคมเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ครอบครัวส่วนใหญ่กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว และมีไม่น้อยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เทศบาลนครโซลสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่บริการ ร้อยละ 20 ระบุว่า มีหลายสถานการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครช่วยได้ ความช่วยเหลือที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง เป็นสิ่งที่บริการภาครัฐยากจะจัดให้ได้ เช่น การจับคู่การเดินทาง หรือ “คาร์พูล” การพาสุนัขไปเดินออกกำลังกาย การสอนผู้สูงอายุให้ใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น

ธนาคารเวลาโซล เริ่มต้นนำร่อง 4 สาขา ใน 4 ชุมชน โดยเทศบาลนครโซลได้จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เปิดรับสมาชิกเป็นคนในชุมชนที่อายุ 14 ปีขึ้นไปเพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกัน กำหนดระยะเวลาไว้ 1 ปี จะทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงาน ก่อนขยายผลธนาคารเวลาไปทั่วกรุงโซล

นวัตกรรมธนาคารเวลา (Timebank Innovation)

ธนาคารเวลาในหลายประเทศ มีการพัฒนานวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ

  • สหรัฐอเมริกา มี “โครงการการขนส่งทางการแพทย์ของธนาคารเวลาเดนเคาน์ตี้” บริการรับส่งผู้ป่วยเข้ารับบริการฟอกไตในศูนย์ฟอกไต นอกจากนี้ มีการจัดทำ Seva Exchange เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี Blockchain กระตุ้นให้เกิดอาสาสมัครทั่วโลก ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมการแลกเปลี่ยนเครดิตผ่านธนาคารเวลา
  • นิวซีแลนด์ เกิดต้นแบบการบรรเทาสาธารณภัยด้วยธนาคารเวลาและเครือข่าย ได้แก่ หน่วยงานภายใต้เทศบาลเมือง ตำรวจดับเพลิง ประปา ไฟฟ้า ทหาร ฯลฯ ประสานความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
  • สหราชอาณาจักร พัฒนางานธนาคารเวลาเป็นเครื่องมือส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม หน่วยงาน องค์กร และสถานประกอบการในท้องถิ่น เพื่อให้สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วม สามารถเข้าถึง และใช้บริการหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น ผ่านการดำเนินงานธนาคารเวลาของโครงการ “Spice”